รูปภาพสวยๆ ของคนน่ารัก

วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

นิทาน

        นิทาน หมายถึง เรื่องเล่าสืบต่อกันมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ส่วนใหญ่ถ่ายทอดด้วยวิธีมุขปาฐะ แต่ก็มีอยู่ส่วนมากที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ และนอกจากนี้ยังอธิบายว่านิทานเป็นเรื่องเล่าทั่วไป มิได้จงใจแสดงประวัติความเป็นมา จุดใหญ่เล่าเพื่อความสนุกสนาน บางครั้งก็จะแทรกคติเพื่อสอนใจไปด้วย นิทานมิใช่เรื่องเฉพาะเด็ก นิทานสำหรับผู้ใหญ่ก็มีจำนวนมาก และเหมาะสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น
        ลักษณะของนิทาน   นิทานพื้นบ้านมีลักษณะเฉพาะที่เห็นเด่นชัด คือ เป็นเรื่องเล่าที่มีการดำเนินเรื่องอย่างง่ายๆโครงเรื่องไม่ซับซ้อน วิธีการที่เล่าก็เป็นไปอย่างง่ายๆตรงไปตรงมา มักจะเริ่มเรื่องโดยการกล่าวถึงตัวละครสำคัญของเรื่อง ซึ่งอาจจะเป็นรุ่นพ่อ-แม่ของพระเอกหรือนางเอก แล้วดำเนินเรื่องไปตามเวลาปฏิทิน ตัวละครเอกพบอุปสรรคปัญหา แล้วก็ฟันฝ่าอุปสรรคหรือแก้ปัญหาลุล่วงไปจนจบเรื่อง ซึ่งมักจะจบแบบมีความสุข หรือสุขนาฏกรรม ถ้าเป็นนิทานคติ ก็มักจะจบลงว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…..” ถ้าเป็นนิทานชาดกก็จะบอกว่าตัวละครสำคัญของเรื่องในชาติต่อไป ไปเกิดเป็นใครบ้าง ถ้าเป็นนิทานปริศนาก็จะจบลงด้วยประโยค คำถาม ลักษณะของนิทานพื้นบ้าน กุหลาบ มัลลิกะมาส (2518, หน้า 99-100) ได้สรุปไว้ดังนี้         
  1. เป็นเรื่องเล่าด้วยถ้อยคำธรรมดา เป็นภาษาร้อยแก้วไม่ใช่ร้อยกรอง
  2. เล่ากันด้วยปากสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน และเมื่อการเขียนเจริญขึ้น ก็อาจมีการเขียนขึ้นตามเค้าเดิมที่เคยเล่าด้วยปาก
  3. ไม่ปรากฏว่าผู้เล่าดั้งเดิมเป็นใคร อ้างแต่ว่าเป็นของเก่าฟังมาจากผู้เล่า ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญยิ่งในอดีตอีกต่อหนึ่ง ผิดกับนิยายสมัยใหม่ที่ทราบตัวผู้แต่ง แม้นิทานที่ปรากฏชื่อ ผู้แต่งเช่นนิทาน     ของกริมม์ ก็อ้างว่าเล่าตามเค้านิทานที่มีมาแต่เดิมไม่ใช่ตนแต่งขึ้นเอง
           ความสำคัญของนิทานพื้นบ้าน

          นิทานพื้นบ้านมีบทบาทสำคัญต่อการถ่ายทอดการเรียนรู้ เสริมสร้างบุคลิกภาพ มีพลังโน้มน้าวความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมของแต่ละบุคคล รวมทั้งมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์และสังคมในหลายด้าน กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้ (ประยูร ทรงศิลป์, 2542, หน้า 6)

  1. นิทานพื้นบ้านเป็นเครื่องช่วยให้มนุษย์เข้าใจสภาพของมนุษย์โดยทั่วไปได้ดียิ่งขึ้น เพราะในนิทานพื้นบ้านเป็นที่ประมวลแห่งความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ความนิยม ความกลัว ความบันเทิงใจ ระเบียบแบบแผน และอื่นๆ
  2. นิทานพื้นบ้านเป็นเสมือนกรอบล้อมชีวิตให้อยู่ในขอบเขตที่มนุษย์ในสังคมนั้นๆนิยมว่าดีหรือถูกต้อง แม้กฎหมายบ้านเมืองก็ยังไม่สามารถบังคับจิตใจของมนุษย์ได้เท่า เพราะมนุษย์ได้ฟัง ได้ซึมซับสั่งสมการอบรมนั้นๆไว้ในวิถีชีวิตตั้งแต่เด็ก
  3. นิทานพื้นบ้านทำให้มนุษย์รู้จักสภาพชีวิตท้องถิ่นโดยพิจารณาตามหลักที่ว่าคติชาวบ้านเป็นพื้นฐานชีวิตของคนชาติหนึ่งๆหรือชนกลุ่มนั้นๆ
  4. นิทานพื้นบ้านเป็นมรดกของชาติในฐานะเป็นวัฒนธรรมประจำชาติเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์แต่ละชาติแต่ละภาษา มีการจดจำและถือปฏิบัติกันต่อๆมา
  5. นิทานพื้นบ้านเป็นทั้งศิลป์และศาสตร์ เป็นต้นเค้าแห่งศาสตร์ต่างๆและช่วยให้การศึกษาในสาขาวิชาอื่นกว้างขวางยิ่งขึ้น
  6. นิทานพื้นบ้านทำให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน ช่วยให้คนแลเห็นสภาพของตนว่าคล้ายคลึงกับคนอื่นๆ ความคิดเช่นนี้ก่อให้เกิดความเป็นกลุ่มไม่เกิดการแบ่งแยก
  7. นิทานพื้นบ้านเป็นเครื่องบันเทิงใจยามว่างของมนุษย์
ที่มา  http://www.thaifolk.com/Doc/literate/tales/index.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น