รูปภาพสวยๆ ของคนน่ารัก

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554




มองทีไร  เศร้าทุกที


ตำนานพระแก้วมรกต

ตำนานพระแก้วมรกต


       พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตพระองค์นี้ มีเรื่องในหนังสือตำนานโบราณแต่งเป็นภาษามคธไว้ เรียกชื่อว่า “รัตนพิมพวงศ์” เล่าเรื่องเดิมของพระพุทธรูปแก้วพระองค์นี้สืบมา มีใจความในเบื้องต้นว่า พระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้เทวดาสร้างถวายพระอรหันต์องค์หนึ่ง มีนามว่า พระนาคเสนเถระ ในเมืองปาฏลิบุตร จึงพระนาคเสนเถระเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ อันมีฤทธิ์สำเร็จด้วยอภิญญา ได้อธิฏฐานอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระพุทธเจ้า ให้ประดิษฐานอยู่ในองค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรถึง ๗ พระองค์ คือในพระโมลีพระองค์ ๑ ในพระนลาฏพระองค์ ๑ ในพระอุระพระองค์ ๑ ในพระอังสาทั้ง ๒ ข้าง ๒ พระองค์ ในพระชานุทั้ง ๒ ข้าง ๒ พระองค์ เป็น ๗ พระองค์ เนื้อแก้วก็ปิดสนิทติดเป็นเนื้อเดียวดังเดิมไม่มีแผลมีช่อง แลเห็นตลอดเข้าไปเลย พระมหามณีรัตนปฏิมากรอยู่เมืองปาฏลิบุตร แล้วตกไปเมืองลังกาทวีป แล้วตกมาเมืองกัมโพชา เมืองศรีอยุธยา เมืองละโว้ เมืองกำแพงเพชร แล้วภายหลังตกไปอยู่เมืองเชียงราย เจ้าเมืองเชียงรายหวังจะซ่อนแก่ศัตรู จึงเอาปูนทาลงรักปิดทองบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่เมืองเชียงรายนั้น

     ข้อความตามตำนานในพงศาวดารมีต่อมาว่า เมื่อจุลศักราช ๗๙๖ ปี พระแก้วมรกตพระองค์นี้อยู่ในพระสถูปใหญ่เก่าองค์หนึ่ง ณ เมืองเชียงราย ครั้นพระสถูปเจดีย์นั้นต้องอสนีบาตพังลงแล้ว ชาวเมืองเชียงรายได้เห็นเป็นองค์พระพุทธรูปปิดทองคำทึบทั่วทั้งพระองค์ ก็สำคัญว่าพระพุทธรูปศิลาสามัญ จึงเชิญไปไว้ในวิหารที่ไว้พระพุทธรูปในวัดแห่งหนึ่ง แต่นั้นไป ๒ เดือน ๓ เดือน ปูนที่ลงรักปิดทองหุ้มทั่วพระองค์นี้กะเทาะออกที่ปลายพระนาสิก เจ้าอธิการในอารามนั้นได้เห็นเป็นแก้วสีเขียวงาม จึงแกะต่อออกไปทั้งพระองค์ คนทั้งปวงจึงได้เห็นและทราบความว่าเป็นพระพุทธรูปแก้วทึบทั้งแท่งบริสุทธิ์ดี ไม่บุบสลาย คนชาวเชียงรายและเมืองลาวอื่นๆ ก็ตื่นกันไปบูชานมัสการมากมาย ท้าวเพี้ยผู้รักษาเมืองจึงได้มีใบบอกลงไปถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่

     เจ้าเมืองเชียงใหม่เกณฑ์กระบวนช้างไปแห่รับเสด็จพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมาโดยหลังช้าง ครั้นถึงทางแยกซึ่งจะไปเมืองลำปาง ช้างรับเสด็จพระมหารัตนปฏิมากรแก้วมา ก็วิ่งตื่นไปทางเมืองลำปาง เมื่อหมอควาญเล้าโลมช้างให้สงบแล้วพามาถึงทางที่จะไปเมืองเชียงใหม่ ช้างก็ตื่นไปทางเมืองนครลำปางอีก จนภายหลังเมื่อเอาช้างเชื่อรับเสด็จพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้ว ช้างนั้นเมื่อมาถึงที่นั้นก็ตื่นคืนไปทางเมืองนครลำปางอีก ด้วยเหตุนั้นท้าวพระยาผู้ไปรับก็ได้มีใบบอกไปถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่ ครั้งนั้นเจ้าเมืองเชียงใหม่นับถือผีสางมากนัก จึงวิตกว่าชะรอยผีซึ่งรักษาองค์พระจะไม่ยอมมาเมืองเชียงใหม่ จึงยอมให้เชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วนั้นไปประดิษฐานไว้ในเมืองลำปาง คนทั้งปวงจึงได้เชิญไปไว้ในวัดที่คนเป็นอันมากมีศรัทธาสร้างถวาย ในเมืองนครลำปางนานถึง ๓๒ ปี และวัดนั้นยังเรียกว่าวัดพระแก้วมาจนทุกวันนี้
    ครั้นจุลศักราช ๘๓๐ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์อื่นได้แผ่นดินเชียงใหม่แล้ว ดำริว่าเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ล่วงแล้วยอมให้พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วไปประดิษฐานอยู่เมืองลำปางนั้นไม่ควรเลย ควรจะไปอาราธนามาไว้ในเมืองเชียงใหม่ คิดแล้วจึ่งไปอาราธนาแห่พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมา สร้างพระอารามวิหารถวายแล้วประดิษฐานไว้ในเมืองเชียงใหม่ และเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้พยายามจะทำพระวิหารที่ไว้พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้ว ให้เป็นปราสาทมียอดให้สมควร แต่หาสมประสงค์ไม่ อสนีบาตต้องทำลายยอดที่ตั้งสร้างขึ้นหลายครั้ง จึงได้เชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วไว้ในพระวิหารมีซุ้มจระนำอยู่ในผนังด้านหลังสำหรับเป็นที่ตั้งพระมหารัตนปฏิมากรแก้ว กับทั้งเครื่องประดับอาภรณ์บูชาต่างๆ มีบานปิดดังตู้ เก็บรักษาไว้ เปิดออกให้คนทั้งปวงนมัสการเป็นคราวๆ แต่พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วได้ประดิษฐานอยู่ในเมืองเชียงใหม่นานได้ ๘๔ ปี

     ครั้นลุจุลศักราช ๙๑๓ ปี เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์หนึ่งซึ่งครองเมืองในครั้งนั้น ชื่อเจ้าไชยเสรษฐาธิราช เป็นบุตรพระเจ้าโพธิสารซึ่งเป็นเจ้าเมืองเซ่า (คือเมืองหลวงพระบาง) เพราะเหตุที่แต่ก่อนนั้นไปเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ก่อนได้ยกราชธิดาชื่อ นางยอดคำ ให้ไปเป็นมเหสีพระเจ้าโพธิสาร จึ่งมีราชบุตรคือเจ้าไชยเสรษฐ์องค์นี้ เมื่อเจ้าไชยเสรษฐ์มีอายุได้ ๑๕ ปี เจ้าเมืองเชียงใหม่ผู้เป็นอัยกาธิบดีถึงแก่ชีพิตักษัยไป ไม่มีผู้อื่นจะรับที่เจ้าเมืองเชียงใหม่ ท้าวพระยากับพระสงฆ์ผู้ใหญ่ทั้งปวงจึงพร้อมกันไปขอเจ้าไชยเสรษฐ์ผู้บุตรใหญ่ของพระเจ้าโพธิสาร และเป็นนัดดาของเจ้าเชียงใหม่นั้นมาเป็นเจ้าเชียงใหม่ แถมนามเข้าว่าเจ้าไชยเสรษฐาธิราช

     ครั้นได้เป็นเจ้าเชียงใหม่แล้วไม่นาน ได้ฟังข่าวว่าพระเจ้าโพธิสารผู้บิดาสิ้นชีพวายชนม์แล้ว เจ้าน้องชายต่างมารดาได้เป็นเจ้าในเมืองเซ่า เจ้าเชียงใหม่ไชยเสรษฐาธิราชจะใคร่ไปทำบุญในการศพบิดาและจะใคร่ได้ส่วนมรดกด้วย แต่ยังไม่แน่ใจลงว่าจะต้องเป็นเจ้าเมืองเซ่าเสีย ไม่ได้กลับมาเมืองเชียงใหม่ หรือจะต้องกลับมาเมืองเชียงใหม่เพราะเมืองเซ่ามีเจ้าแล้ว หรือเมื่อไม่อยู่ฝ่ายข้างเมืองเชียงใหม่จะเป็นประการใด ภวังค์หน้าภวังค์หลังอยู่ จึงได้เชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วนั้นไปด้วย อ้างว่าจะรับไปทำบุญและให้เจ้านายญาติวงศ์ในเมืองเซ่าได้บูชาทำบุญด้วยกัน แล้วก็ยกครอบครัวไปหมด เมื่อพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วออกไปจากเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้เป็นปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๙๑๔ ปี

     เจ้าไชยเสรษฐาธิราชไปถึงเมืองเซ่าแล้ว ก็ประนีประนอมพร้อมกับเจ้าน้องและญาติวงศ์ฝ่ายบิดา เชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วขึ้นประดิษฐานไว้ในปราสาท แล้วก็ฉลองพระและทำการกุศลส่งบิดาเป็นอันมาก แล้วก็ปรึกษาหารือกันตามญาติวงศ์พี่น้องด้วยมรดกบิดา แบ่งทรัพย์สิ่งของผู้คนช้างม้าพาหนะช้าอยู่ กาลล่วงไปถึง ๓ ปี

     ฝ่ายพระยาท้าวแสนผู้รักษาเมืองเชียงใหม่เห็นว่า เจ้าไชยเสรษฐาธิราชไปเมืองเซ่าเสียนานแล้วไม่กลับ การงานบ้านเมืองค้างขัดอยู่มาก ถ้ามีข้าศึกศัตรูก็จะไม่มีผู้ชี้การสิทธิ์ขาดได้ จึ่งได้พร้อมกันปรึกษาเลือกหาได้ภิกษุรูปหนึ่งซึ่งชื่อเมกุฏิ เป็นเชื้อวงศ์เจ้าเชียงใหม่ที่ล่วงแล้วมาแต่ก่อนนั้น เวลานั้นมีสติปัญญาสามารถสมควร จึ่งพร้อมกันเชิญเจ้าเมกุฏิให้คืนผนวชออกมา แล้วก็ยอมยกให้เป็นเจ้าเชียงใหม่ พระแก้วมรกตจึ่งค้างอยู่เมืองเซ่า ๑๒ ปี จนเมื่อเจ้าไชยเสรษฐาธิราชลงไปตั้งเมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวง จึงเชิญพระแก้วมรกตลงไปไว้ที่เมืองเวียงจันทน์

      ครั้นเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๐ ปี จึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ยังดำรงพระเกียรติยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นจอมพลเสด็จขึ้นไปหัวเมืองลาวได้ตลอดจนเมืองเวียงจันทน์ จึงเชิญพระแก้วมรกตมากรุงธนบุรี


  ที่มา  http://www.watpom.net/bord/viewthread.php?tid=391

ฝึกทบทวนความรู้

เรื่องย่อวรรณกรรมอีสาน

เรื่องย่อวรรณกรรมอีสาน
นำเสนอโดย ครูวัฒน ศรีสว่าง โรงเรียนสว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี

๑. กาฬเกษ
อักษรธรรม ๑ ผูก วัดแสงเกษม อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

             ณ เมืองพาราณสี มีกษัตริย์นามว่าสุริวงษ์ และมเหสีนามว่า กาฬ และท้าวสุริวงษ์มีม้ามณีกาบ ซึ่งเป็นม้าวิเศษเป็นพาหนะคู่บารมี  ครั้งหนึ่งท้าวสุริวงษ์ได้ลามเหสีและชาวเมืองไปเรียนวิชาอาคม โดยมีม้ามณีกาบเป็นพาหนะไปพบกับพญาครุฑ และยักษ์กุมภัณฑ์   ต่อมาได้เป็นสหายกันและพระองค์ก็เรียนศาสตรศิลป์กับพระฤาษีจนสำเร็จ  แล้วกลับมาปกครองเมืองต่อไป
           เมื่อท้าวสุริวงษ์กลับมาครองเมืองแล้ว ก็ต้องการจะมีบุตรชายเพื่อเอาไว้สืบราชสมบัติแทนพระองค์ ดังนั้นจึงทำพิธีขอลูกกับพระอินทร์ พระอินทร์ได้ส่งเทพบุตรกับเทพธิดาลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ เพื่อให้เป็นคู่สามีภรรยากัน โดยเทพบุตรองค์หนึ่งมาเกิดในท้อง นางกาฬ มเหสีของท้าวสุริวงษ์ เมื่อนางกาฬประสูติออกมาเป็นชาย ชื่อว่ากาฬเกษ กาฬเกษกุมารนี้ได้เจริญเติบโต มาเป็นลำดับ ครั้งหนึ่งเข้าไปเล่นในโรงม้า อันเป็นที่อยู่ของม้ามณีกาบ ได้แอบขึ้นขี่ม้า แล้วม้ามณีกาบก็พากาฬเกษกุมารเหาะไปในอากาศออกจากเมืองมุ่งเข้าป่าหิมพานต์  ขณะที่ท้าวกาฬเกษหนีออกจากเมืองนั้น ได้พบกับนกสาริกาคู่หนึ่ง จึงได้สั่งความให้กลับไปบอกท้าวสุริวงษ์ด้วยว่าจะออกไปเที่ยวในป่าถึง ๓ ปี แล้วจะกลับมา   เมื่อสั่งความแล้วก็เดินทางต่อไปจนเข้าเขตเมืองผีมนต์ของท้าวผีมนต์ และนางมาลีทอง ได้พักอยู่นอกเมือง   พบกับชาวเมืองที่ออกมาหาฟืนแล้วได้ทราบว่าท้าวผีมนต์มีลูกสาวสวยชื่อ มาลีจันทน์ จึงพยายามจะไปพบนางในสวนดอกไม้ เมื่อนางมาลีจันทน์มาชมสวน  ท้าวกาฬเกษจึงเข้าไปหา แล้วชอบพอรักใคร่กัน ดังนั้นเมื่อตอนกลางคืนจึงแอบเข้าไปหานางเป็นเวลานาน ต่อมาท้าวผีมนต์สืบได้จึงทำหอกยนต์ดักยิง ขณะที่ท้าวกาฬเกษแอบเข้าไปนั้น  พระองค์ได้ถูกหอกยนต์ตายลง แต่ก่อนจะตายท้าวเธอได้สั่งว่าอย่าเผาศพ ให้เอาใส่แพลอยน้ำไป นางมาลีจันทน์  ได้ปฏิบัติตามที่ท้าวกาฬเกษสั่งทุกประการ     ศพของท้าวกาฬเกษลอยทวนกระแสน้ำจนไปถึงอาศรมพระฤาษี   แล้วพระฤาษีมาพบเข้าจึงร่ายมนต์ชุบชีวิตให้ฟื้นขึ้นมา ท้าวกาฬเกษคืนมาแล้วจึงเรียนศาสตรศิลป์อยู่กับพระฤาษี   จนสำเร็จแล้วลาพระฤาษีกลับไปหานางมาลีจันทน์ใหม่ ท้าวผีมนต์ทราบข่าวอีกจึงเกิดรบกัน  ในที่สุด ท้าวผีมนต์จึงแพ้  ยกเมืองและลูกสาวคือนางมาลีจันทน์ให้แก่ท้าวกาฬเกษ ๆ อยู่ที่นั่นไม่นานก็พานางมาลีจันทน์เดินทางต่อไปอีก       ในการเดินทางต่อนี้ ยักษ์หลายเมืองเช่น ยักษ์ชื่อสาระกัน ชื่อคันธะยักษ์  และยักษ์ขีนีสาระกาย ต่างต้องการจะให้ท้าวกาฬเกษอยู่ครองเมือง แต่ท้าวกาฬเกษยังต้องการเดินทางต่อไป     หลังจากเดินทางตามที่ต้องการแล้ว ในที่สุดท้าวกาฬเกษก็รับนางมาลีจันทน์ ไปครองเมืองพาราสี สืบต่อไป
      
      
๒. กำพร้าผีน้อย
อักษรธรรม ๑ ผูก วัดโนนกุง ต. นาคำ อ. ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี

            ที่เมืองแห่งหนึ่งมีเด็กน้อยคนหนึ่งกำพร้าพ่อและแม่  ได้เที่ยวขอทานเขากินจนโตเป็นหนุ่มแล้วจึงออกจากเมือง    มาทำนาทำไร่ ณ ที่แห่งหนึ่ง เมื่อข้าวพืชงอกงามขึ้น ได้มีสัตว์ต่างๆ มากิน  แม้จะไล่อย่างไรก็ไม่ไหว เอาอะไรมาทำเครื่องดักก็ยังขาดหมด จึงไปขอเอาสายไหม จากย่าจำสวน (คนสวนของพระราชา) มาทำจึงจับได้ช้าง ช้างเมื่อถูกจับได้กลัวตายจึงร้องขอชีวิตและบอกว่าจะให้ของวิเศษถอดงาข้างหนึ่งให้ ท้าวกำพร้าผีน้อยจึงปล่อยไปแล้วเอางาช้างมาไว้ที่บ้าน  ต่อมาท้าวกำพร้าดักได้เสือ เสือก็ยอมเป็นลูกน้อง  โดยบอกว่าถ้ามีเรื่องเดือดร้อนจะมาช่วย ต่อมาจับได้อีเห็น อีเห็นก็ยอมเป็นลูกน้อง เช่นเดียวกันกับเสือ ต่อมาจับพญาฮุ้ง (นกอินทรีย์) พญาฮุ้งก็ยอมเป็นลูกน้องอีก และตัวสุดท้ายจับได้คือผีน้อยที่มาขโมยกินปลาที่ไซ ผีน้อยก็ยอมเป็นลูกน้อง เมื่อท้าวกำพร้าได้งาช้างมาแล้วก็เอามาไว้ที่บ้าน ในงาช้างนั้นได้มีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อสีดา อาศัยอยู่ นางได้ออกมาทำอาหารไว้รอท้าวกำพร้า ต่อมาท้าวกำพร้าจับนางได้จึงทุบงาช้างนั้น เพื่อจะไม่ให้นางหลบเข้าไปอยู่อีก นางจึงอยู่กินเป็นสามีภรรยากันตั้งแต่นั้นมา   ความสวยงามของสีดา ได้ยินไปถึงพระราชา เมื่อพระราชาเห็นแล้วก็รักใคร่จึงจะยึดเอาแต่ก็กลัวคนจะติเตียน จึงท้าท้าวกำพร้าทำการแข่งขันต่างๆ โดยถ้าท้าวกำพร้าแพ้จะยึดนางสีดามา    แต่ถ้าพระองค์แพ้จะยอมยกเมืองให้ครึ่งหนึ่ง การแข่งขันนั้นคือ ชนวัว  ชนไก่  แข่งเรือ แต่ปรากฏว่าท้าวกำพร้าชนะทุกครั้ง เพราะในการชนวัวนั้น เสือแปลงเป็นวัวมาช่วยท้าวกำพร้า   ชนไก่นั้นอีเห็นแปลงเป็นไก่มาช่วย กัดไก่ของพระราชาตาย ในการแข่งขันเรือนั้นพญาฮุ้งมาเป็นเรือและได้ทำให้เรือพระราชาล่มแล้วกินคนทั้งหมด   เมื่อพระราชาตายแล้วได้รวมหัวกับบ่างลั่วตัวหนึ่ง โดยให้บ่างลั่วร้องเรียกวิญญาณของนางสีดามา โดยร้องครั้งแรกนางก็ไม่สบาย ครั้งที่สองสลบไป ครั้งที่สามจึงตายวิญญาณของนางจึงมาอยู่กับพวกผีพระราชา  ส่วนท้าวกำพร้าปรึกษากับผีน้อย ผีน้อยบอกว่าอย่าเพิ่งเผา  จะตามไปดูวิญญาณของนางอยู่ที่ใด   เมื่อผีน้อยตามไปทราบเรื่องทั้งหมดแล้วจึงวางแผนจะจับบ่างลั่วตัวนั้น  จึงเข้าไปตีสนิทกับบ่างลั่วแล้วสานข้อง (ที่ใส่ปลา)   ครั้งแรกสานด้วยไม้ใผ่แล้วให้บ่างลั่วเข้าไปข้างใน   แล้วให้ยันดูปรากฏว่าข้องแตก   จึงสานด้วยลวด แล้วบอกให้บ่างลั่วเข้าไปดูแล้วบอกให้ยันดู  ปรากฏว่าข้องไม่แตกจึงรีบหาฝามาปิดแล้วรีบเอามาให้ท้าวกำพร้าบังคับให้บ่างลั่วร้องเรียกเอาวิญญาณนางสีดากลับคืนมาไม่เช่นนั้นจะฆ่าเสีย  บ่างลั่วจึงร้องเรียกเอาวิญญาณนางกลับมา โดยร้องครั้งแรกก็เคลื่อนไหว      ครั้งที่สองฟื้นขึ้น ครั้งที่สามหายเป็นปกติทุกอย่าง พอทุกอย่างปกติแล้วท้าวกำพร้าจึงหลอกว่าขอดูไอ้ที่ร้องเอาวิญญาณคนได้ไหม บ่างลั่วจึงแลบลิ้นออกมาให้ดู ท้าวกำพร้าจึงตัดลิ้นบ่างลั่วนั้นเสีย เพราะกลัวมันจะร้องเอาวิญญาณไปอีก บ่างลั่วจึงร้องไม่ชัดตั้งแต่นั้นมา ส่วนท้าวกำพร้ากับนางสีดา ได้ปกครองเมืองแทนพระราชาที่ตายนั้น


วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน

กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน
ประเด็นปัญหา
                เนื่องจากผลการประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) พบว่าความสามารถของผู้เรียนในด้านการแสวงหาความรู้ อยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง
แนวคิด / หลักการ
                ความสำคัญของการอ่าน การอ่านเป็นสื่อกลางของการเรียนรู้ ผู้ที่อ่านมากย่อมมีความรู้มาก เราสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยการอ่าน
                องค์ประกอบในการอ่าน ในการสอนหรือฝึกให้เด็กอ่านคล่อง อ่านเก่งและอ่านเป็นนั้น ครูผู้สอนควรพิจารณาถึงองค์ประกอบต่อไปนี้ เช่น
                                - ระดับสติปัญญา เด็กบางคนมีสติปัญญาไม่เท่ากัน มีผลต่อการอ่าน จึงไม่ควรเน้นให้เด็กอ่านได้เท่ากันในเวลาเดียวกัน
                                - วุฒิภาวะและความพร้อม  การอ่านต้องอาศัยทักษะต่างๆ เช่น ทักษะการใช้สายตา กาใช้อวัยวะเกี่ยวกับการออกเสียง ดังนั้น การเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเริ่มการสอนอ่าน
                การเลือกวิธีอ่านอย่างเหมาะสม
                                การอ่านมีหลายวิธี เช่น อ่านคร่าวๆ อ่านเก็บแนวคิด อ่านแบบตรวจตรา อ่านแบบศึกษาค้นคว้า อ่านเชิงวิเคราะห์ อ่านเก็บข้อมูล อ่านโดยใช้วิจารณญาณ
                                ดังนั้น การเลือกวิธีการอ่านอย่างเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ จะช่วยให้การอ่านมีความหมายและเป็นประโยชน์มากขึ้น
                การส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน
                                ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีการอ่านหนังสือจนเกิดเป็นนิสัย จำเป็นต้องมีการปลูกฝังและชักชวนให้เกิดความสนใจการอ่านอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยมีมาตรการเพื่อส่งเสริมการอ่าน โดยนำไปบูรณาการการอ่านกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ดังนี้
                - จัดกิจกรรม วางทุกงาน อ่านทุกคน
                - จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านทั้งในและนอกห้องเรียนอย่างหลากหลายและสม่ำเสมอ
                - จัดกิจกรรมให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการอ่าน
                - สร้างแรงจูงใจและชี้แจงให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน
                - พัฒนาการอ่านของนักเรียนตามลำดับตั้งแต่ระดับอ่านออก อ่านเป็น อ่านสม่ำเสมอและอ่านเป็นนิสัย รวมทั้งติดตามประเมินผลพัฒนาการอ่านของเด็กอย่างต่อเนื่อง
-   จัดสื่อ หรือแหล่งการเรียนรู้เพื่อสนองความต้องการในการอ่าน
จากผลการสำรวจข้อมูลในด้านการอ่านของคนไทยโดยภาพรวมจำนวนหนังสือและชั่วโมงในการอ่านน้อยอย่างน่าตกใจ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลการศึกษาของนักเรียนไทยตกต่ำลงทุกปี ซึ่งในปัจจุบันสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวมีสิ่งเร้า สิ่งยั่วยุมากมาย โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี เด็กมักเอาเวลาส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์เล่นเกมส์กันมากกว่าใช้ค้นหาความรู้ ค้นหาข้อมูลในด้านการเรียนของตัวเอง จึงเป็นประเด็นปัญหาที่น่าสนใจในการช่วยกันส่งเสริมทักษะในด้านการอ่านให้กับเด็กไทยอย่างไรให้เด็กมีความรู้สึกอยากอ่าน มากกว่าการอ่านเพื่อสอบเก็บคะแนน หรือการสอบเข้าเรียนต่อในสถาบันที่ผู้ปกครองต้องการ

วรรณคดีไทย

        วรรณคดี หมายถึง วรรณกรรมหรืองานเขียนที่ยกย่องกันว่าดี มีสาระ และมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ การใช้คำว่าวรรณคดีเพื่อประเมินค่าของวรรณกรรมเกิดขึ้นในพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ 6
        วรรณคดี เป็นวรรณกรรมที่ถูกยกย่องว่าเขียนดี มีคุณค่า สามารถทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์สะเทือนใจ มีความคิดเป็นแบบแผน ใช้ภาษาที่ไพเราะ เหมาะแก่การให้ประชาชนได้รับรู้ เพราะ สามารถ ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร

        ประเภท
  • วรรณคดีแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
  • วรรณคดีมุขปาฐะ
วรรณคดี แบบที่เล่ากันมาปากต่อปาก ไม่ได้บันทึกไว้ เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น เพลงพื้นบ้าน นิทานชาวบ้าน บทร้องเล่น
  • วรรณคดีราชสำนัก หรือ วรรรคดีลายลักษณ์
ไตรภูมิพระร่วง พระอภัยมณี อิเหนา ลิลิตตะเลงพ่าย
       
การศึกษาวรรณคดีโดยวิเคราะห์ตามประเภท สามารถแบ่งได้เป็นประเภทต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้
  • วรรณคดีคำสอน
  • วรรณคดีศาสนา
  • วรรณคดีนิทาน
  • วรรณคดีลิลิต
  • วรรณคดีนิราศ
  • วรรณคดีเสภา
  • วรรณคดีบทละคร
  • วรรณคดีเพลงยาว
  • วรรณคดีคำฉันท์
  • วรรณคดียอพระเกียรติ
  • วรรณคดีคำหลวง
  • วรรณคดีปลุกใจ
             ตัวอย่างเช่น

     ขุนช้างขุนแผน    มหาชาติคำหลวง
   
     ลิลิตพระลอ         อิเหนา

     ไตรภูมิพระร่วง   

ที่มา    http://th.wikipedia.org/wiki/วรรณคดี

วรรณกรรมพื้นบ้าน

     วรรณกรรมพื้นบ้าน    หมายถึง ผลงานที่เกิดขึ้นจากการใช้ภาษาโดยการพูดและการเขียนของกลุ่มชนในแต่ละท้องถิ่น เช่น วรรณกรรมพื้นบ้านภาคเหนือ วรรณกรรมพื้นบ้านภาคอีสาน วรรณกรรมพื้นบ้านภาคใต้ เป็นต้น ซื่งในแต่ละท้องถิ่นก็จะใช้ภาษาพื้นบ้านในการถ่ายทอดเป็นเอกลักษณ์
วรรณกรรมที่สื่อเรื่องราวด้านต่างๆ ของท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น จารีตประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ สภาพเศรษฐกิจและสังคม ทัศนคติ ค่านิยม ตลอดจนความเชื่อต่างๆ ของบรรพบุรุษ อันเป็นพื้นฐานของความคิดและพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน

    ลักษณะของวรรณกรรมพื้นบ้าน
  1. เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจากมุขปาฐะ คือ เป็นการเล่าสืบต่อกันมาจากปากต่อปากและแพร่หลายกันอยู่ในกลุ่มชนท้องถิ่น
  2. เป็นแหล่งข้อมูลที่บันทึกข้อมูลด้านขนบธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มชนท้องถิ่น อันเป็นแบบฉบับให้คนยุคต่อมาเชื่อถือและปฏิบัติตาม
  3. มักไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง เพราะเป็นเรื่องที่บอกเล่าสืบต่อกันมาจากปากต่อปาก
  4. ใช้ภาษาท้องถิ่น ลักษณะถ้อยคำเป็นคำง่ายๆ สื่อความหมายตรงไปตรงมา
  5. สนองความต้องการของกลุ่มชนในท้องถิ่น เช่น
  6. เพื่อความบันเทิง
  7. เพื่ออธิบายสิ่งที่คนในสมัยนั้นยังไม่เข้าใจ
  8. เพื่อสอนจริยธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีและพฤติกรรมด้านต่างๆ
           ประเภทของวรรณกรรมพื้นบ้าน
  1. จำแนกโดยอาศัยเขตท้องถิ่นได้ ๔ ประเภท คือ
    1. วรรณกรรมพื้นบ้านภาคเหนือ (วรรณกรรมล้านนา)
    2. วรรณกรรมพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    3. วรรณกรรมพื้นบ้านภาคใต้
    4. วรรณกรรมพื้นบ้านภาคกลาง
  2. จำแนกตามวิธีการบันทึก ได้ ๒ ประเภท คือ
    1. วรรณกรรมมุขปาฐะ หมายถึง วรรณกรรมที่ใช้วิธีเล่าจากปากต่อปาก ไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
    2. วรรณกรรมลายลักษณ์อักษร หมายถึง วรรณกรรมที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

นิทาน

        นิทาน หมายถึง เรื่องเล่าสืบต่อกันมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ส่วนใหญ่ถ่ายทอดด้วยวิธีมุขปาฐะ แต่ก็มีอยู่ส่วนมากที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ และนอกจากนี้ยังอธิบายว่านิทานเป็นเรื่องเล่าทั่วไป มิได้จงใจแสดงประวัติความเป็นมา จุดใหญ่เล่าเพื่อความสนุกสนาน บางครั้งก็จะแทรกคติเพื่อสอนใจไปด้วย นิทานมิใช่เรื่องเฉพาะเด็ก นิทานสำหรับผู้ใหญ่ก็มีจำนวนมาก และเหมาะสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น
        ลักษณะของนิทาน   นิทานพื้นบ้านมีลักษณะเฉพาะที่เห็นเด่นชัด คือ เป็นเรื่องเล่าที่มีการดำเนินเรื่องอย่างง่ายๆโครงเรื่องไม่ซับซ้อน วิธีการที่เล่าก็เป็นไปอย่างง่ายๆตรงไปตรงมา มักจะเริ่มเรื่องโดยการกล่าวถึงตัวละครสำคัญของเรื่อง ซึ่งอาจจะเป็นรุ่นพ่อ-แม่ของพระเอกหรือนางเอก แล้วดำเนินเรื่องไปตามเวลาปฏิทิน ตัวละครเอกพบอุปสรรคปัญหา แล้วก็ฟันฝ่าอุปสรรคหรือแก้ปัญหาลุล่วงไปจนจบเรื่อง ซึ่งมักจะจบแบบมีความสุข หรือสุขนาฏกรรม ถ้าเป็นนิทานคติ ก็มักจะจบลงว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…..” ถ้าเป็นนิทานชาดกก็จะบอกว่าตัวละครสำคัญของเรื่องในชาติต่อไป ไปเกิดเป็นใครบ้าง ถ้าเป็นนิทานปริศนาก็จะจบลงด้วยประโยค คำถาม ลักษณะของนิทานพื้นบ้าน กุหลาบ มัลลิกะมาส (2518, หน้า 99-100) ได้สรุปไว้ดังนี้         
  1. เป็นเรื่องเล่าด้วยถ้อยคำธรรมดา เป็นภาษาร้อยแก้วไม่ใช่ร้อยกรอง
  2. เล่ากันด้วยปากสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน และเมื่อการเขียนเจริญขึ้น ก็อาจมีการเขียนขึ้นตามเค้าเดิมที่เคยเล่าด้วยปาก
  3. ไม่ปรากฏว่าผู้เล่าดั้งเดิมเป็นใคร อ้างแต่ว่าเป็นของเก่าฟังมาจากผู้เล่า ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญยิ่งในอดีตอีกต่อหนึ่ง ผิดกับนิยายสมัยใหม่ที่ทราบตัวผู้แต่ง แม้นิทานที่ปรากฏชื่อ ผู้แต่งเช่นนิทาน     ของกริมม์ ก็อ้างว่าเล่าตามเค้านิทานที่มีมาแต่เดิมไม่ใช่ตนแต่งขึ้นเอง
           ความสำคัญของนิทานพื้นบ้าน

          นิทานพื้นบ้านมีบทบาทสำคัญต่อการถ่ายทอดการเรียนรู้ เสริมสร้างบุคลิกภาพ มีพลังโน้มน้าวความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมของแต่ละบุคคล รวมทั้งมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์และสังคมในหลายด้าน กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้ (ประยูร ทรงศิลป์, 2542, หน้า 6)

  1. นิทานพื้นบ้านเป็นเครื่องช่วยให้มนุษย์เข้าใจสภาพของมนุษย์โดยทั่วไปได้ดียิ่งขึ้น เพราะในนิทานพื้นบ้านเป็นที่ประมวลแห่งความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ความนิยม ความกลัว ความบันเทิงใจ ระเบียบแบบแผน และอื่นๆ
  2. นิทานพื้นบ้านเป็นเสมือนกรอบล้อมชีวิตให้อยู่ในขอบเขตที่มนุษย์ในสังคมนั้นๆนิยมว่าดีหรือถูกต้อง แม้กฎหมายบ้านเมืองก็ยังไม่สามารถบังคับจิตใจของมนุษย์ได้เท่า เพราะมนุษย์ได้ฟัง ได้ซึมซับสั่งสมการอบรมนั้นๆไว้ในวิถีชีวิตตั้งแต่เด็ก
  3. นิทานพื้นบ้านทำให้มนุษย์รู้จักสภาพชีวิตท้องถิ่นโดยพิจารณาตามหลักที่ว่าคติชาวบ้านเป็นพื้นฐานชีวิตของคนชาติหนึ่งๆหรือชนกลุ่มนั้นๆ
  4. นิทานพื้นบ้านเป็นมรดกของชาติในฐานะเป็นวัฒนธรรมประจำชาติเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์แต่ละชาติแต่ละภาษา มีการจดจำและถือปฏิบัติกันต่อๆมา
  5. นิทานพื้นบ้านเป็นทั้งศิลป์และศาสตร์ เป็นต้นเค้าแห่งศาสตร์ต่างๆและช่วยให้การศึกษาในสาขาวิชาอื่นกว้างขวางยิ่งขึ้น
  6. นิทานพื้นบ้านทำให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน ช่วยให้คนแลเห็นสภาพของตนว่าคล้ายคลึงกับคนอื่นๆ ความคิดเช่นนี้ก่อให้เกิดความเป็นกลุ่มไม่เกิดการแบ่งแยก
  7. นิทานพื้นบ้านเป็นเครื่องบันเทิงใจยามว่างของมนุษย์
ที่มา  http://www.thaifolk.com/Doc/literate/tales/index.htm

หลักภาษาไทย

         หลักภาษาไทย
     อักขระวิธี ได้แก่ อักษร แปลว่า ตัวหนังสือลักษณะอักษร เสียงในภาษาไทย มีอยู่ 3 อย่าง คือ
1. เสียงแท้ ได้แก่ สระ
2. เสียงแปร ได้แก่ พยัญชนะ
3. เสียงดนตรี ได้แก่ วรรณยุกต์

         สระ     สระในภาษาไทย ประกอบด้วยรูปสระ 21 รูป และเสียงสระ 32 เสียงพยัญชนะรูปพยัญชนะ มี 44 ตัว คือ
1. อักษรสูง มี 11 ตัว คือ ข ข ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห
2. อักษรกลาง มี 9 ตัว ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ
3. อักษรต่ำ มี 24 ตัว คือ
   3.1 อักษรคู่ คืออักษรต่ำที่เป็นคู่กับอักษรสูง มี 14 ตัว คือ ค ค ฆ ช ฌ ซ ฑ ฒ ท ธ พ ภ ฟ ฮ
   3.2 อักษรเดี่ยว คืออักษรต่ำที่ไม่มีอักษรสูงเป็นคู่กัน มี 10 ตัว คือ ง ญ ณ น ม ย ร ล ว ฬ

    วรรณยุกต์
   วรรณยุกต์ มี 4 รูป ได้แก่
1. ไม้เอก
2. ไม้โท
3. ไม้ตรี
4. ไม้จัตวา

    เสียงวรรณยุกต์ที่ใช้อยู่ในภาษาไทย มี 5 เสียง
1. เสียงสามัญ คือเสียงกลาง ๆ เช่น กา มา ทา เป็น ชน
2. เสียงเอก ก่า ข่า ป่า ดึก จมูก ตก หมด
3. เสียงโท เช่น ก้า ค่า ลาก พราก กลิ้ง สร้าง
4. เสียงตรี เช่น ก๊า ค้า ม้า ช้าง โน้ต มด
5. เสียงจัตวา เช่น ก๋า ขา หมา หลิว สวย หาม ปิ๋ว จิ๋ว
ที่มา  http://www.watcharina.com/board/index.php?topic=2393.0

ฉันทลักษณ์ คือตำราที่ว่าด้วย วิธีร้อยกรองถ้อยคำ หรือเรียบเรียงถ้อยคำ ให้เป็นระเบียบ ตาม ลักษณะบังคับ และบัญญัติ ที่นักปราชญ์ได้วางเป็นแบบไว้ ถ้อยคำที่ร้อยกรองขึ้น ตามลักษณะบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ เรียกว่า 'คำประพันธ์' คำประพันธ์ คือถ้อยคำที่ได้ร้อยกรอง หรือเรียบเรียงขึ้น โดยมีข้อบังคับ จำกัดคำ และวรรคตอน ให้รับสัมผัสกัน ไพเราะ ตามกฎเกณฑ์ ที่ได้วางไว้ในฉันทลักษณ์
คำประพันธ์ จำแนกออกเป็น ๗ ชนิด คือ โคลง ร่าย ลิลิต กลอน กาพย์ ฉันท์ กล
คำประพันธ์ที่ดี จะต้องประกอบด้วยลักษณะ ๓ ประการ คือ
๑.มีข้อความดี
๒.มีสัมผัสดี
๓.แต่งถูกต้องตาม 'ลักษณะบังคับ' ลักษณะบังคับ หรือบัญญัติ ในการเรียบเรียงคำประพันธ์ทั้งปวง มีอยู่ ๘ อย่าง คือ
๑. ครุ ลหุ 
๒. เอก โท 
๓. คณะ
๔. พยางค์
๕. สัมผัส
๖. คำเป็นคำตาย
๗. คำนำ
๘. คำสร้อย ครุ คือพยางค์ที่มีเสียงหนัก ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงยาว (ทีฆสระ) และ สระเกินทั้ง ๔ คือ สระ อำ ใอ ไอ เอา และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น เช่นตา ดำ หัด เรียน ฯลฯ
ลหุ คือพยางค์ที่มีเสียงเบา ได้แก่พยางค์ที่ประกอบด้วย สระสั้น(รัสสระ) ที่ไม่มีตัวสะกด เช่น พระ จะ มิ ดุ แกะ ฯลฯ
เอก คือพยางค์ หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอก และบรรดาคำตายทั้งสิ้น ซึ่งในโคลง และร่าย ใช้เอกแทนได้ เช่น พ่อ แม่ พี่ ปู่ ชิ ชะ มัก มาก ฯลฯ
โท คือพยางค์หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์โท เช่น น้า ป้า ช้าง นี้น้อง ต้อง เลี้ยว ฯลฯ
คณะ คือแบบบังคับที่วางเป็นกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่า คำประพันธ์ชนิดนั้น จะต้องมีเท่านั้นวรรค เท่านั้นคำ และต้องมีเอกโท ครุลหุตรงนั้นๆ ตรงนี้ กล่าวโดยทั่วๆ ไป แต่สำหรับใน "ฉันท์" คำว่าคณะ มีความหมายแคบ คือหมายถึง ลักษณะที่วางคำเสียงหนัก เสียงเบา ที่เรียกว่า ครุ ลหุ และแบ่งออกเป็น ๘ คณะ คณะหนึ่งมีคำอยู่ ๓ คำ เรียง ครุ ลหุ ไว้ต่างๆ กัน
คณะทั้ง ๘ นั้น คือ ย ร ต ภ ช ส ม น
ชื่อคณะทั้ง ๘ นี้ เป็นอักษรที่ย่อมาจากคำเต็ม คือ
ย มาจาก ยชมาน  แปลว่า  พราหมณ์บูชายัญ
ร มาจาก รวิ   แปลว่า  พระอาทิตย์
ต มาจาก โตย   แปลว่า  น้ำ
ภ มาจาก ภูมิ   แปลว่า  ดิน
ช มาจาก ชลน   แปลว่า  ไฟ
ส มาจาก โสม   แปลว่า  พระจันทร์
ม มาจาก มารุต  แปลว่า  ลม
น มาจาก นภ   แปลว่า  ฟ้า
เมื่อจัดเป็นรูป ครุ ลหุ ลงในคณะทั้ง ๘ จะเป็นดังนี้
(จะมีรูปตารางแสดง)

ได้แต่งคำคล้องจองไว้สำหรับจำ "คณะ" ไว้ดังนี้
ย ยะยิ้มยวน
ร รวนฤดี
ส สุรภี
ภ ภัสสระ
ช ชะโลมและ
น แนะเกะกะ
ต ตาไปละ
ม มาดีดี
พยางค์ คือจังหวะเสียง ที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งๆ หรือหน่วยเสียง ที่ประกอบด้วยสระตัวเดียว จะมีความหมาย หรือไม่ก็ตาม คำที่ใช้บรรจุในบทร้อยกรองต่างๆ นั้น ล้วนหมายถึง คำพยางค์ ทั้งสิ้น คำพยางค์นี้ ถ้ามีเสียงเป็น ลหุ จะรวม ๒ พยางค์ เป็นคำหนึ่ง หรือหน่วยหนึ่ง ในการแต่งร้อยกรองก็ได้ แต่ถ้ามี เสียงเป็น ครุ จะรวมกันไม่ได้ ต้องใช้พยางค์ละคำ สัมผัส คือลักษณะที่บังคับให้ใช้คำคล้องจองกัน คำที่คล้องจองกันนั้น หมายถึง คำที่ใช้สระ และมาตราสะกดอย่างเดียวกัน แต่ต้องไม่ซ้ำอักษร หรือซ้ำเสียงกัน (สระใอ, ไอ อนุญาตให้ใช้สัมผัสกับ อัย ได้) มี ๒ ชนิด คือ
๑. สัมผัสนอก ได้แก่คำที่บังคับให้คล้องจองกัน ในระหว่างวรรคหนึ่ง กับอีกวรรคหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งที่ต่างๆ กัน ตามชนิดของคำประพันธ์นั้นๆ สัมผัสนอกนี้ เป็นสัมผัสบังคับ ซึ่งจำเป็นต้องมี จะขาดไม่ได้ ดังตัวอย่าง ที่โยงเส้นไว้ให้ดู ดังต่อไปนี้

๒.สัมผัสใน ได้แก่ คำที่คล้องจองกัน และอยู่ในวรรคเดียวกัน จะเป็นสัมผัสคู่ เรียงคำไว้ติดต่อกัน หรือจะเป็นสัมผัสสลับ คือเรียงคำอื่น แทรกคั่นไว้ ระหว่างคำที่สัมผัสก็ได้สุดแต่จะเหมาะ ทั้งไม่มีกฎเกณฑ์จำกัดว่า จะต้องมีอยู่ตรงนั้น ตรงนี้ เหมือนอย่างสัมผัสนอก และไม่จำเป็น จะต้องใช้สระอย่างเดียวกันด้วย เพียงแต่ให้อักษรเหมือนกัน หรือเป็นอักษรประเภทเดียวกัน หรืออักษรที่มีเสียงคู่กัน ก็ใช้ได้
สัมผัสใน แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
๒-ก) สัมผัสสระ ได้แก่คำคล้องจองที่มีสระและมาตราสะกดอย่างเดียวกัน เช่น

๒-ข) สัมผัสอักษร ได้แก่ คำคล้องจองที่ใช้ตัวอักษรชนิดเดียวกัน หรือตัวอักษร ประเภทเดียวกัน หรือใช้ตัวอักษร ที่มีเสียงคู่กัน ที่เรียกว่า "อักษรคู่" เช่น ข ค ฆ หรือถ ท ธ เป็นต้น เช่น
๑) ใช้ตัวอักษรชนิดเดียวกัน คือใช้อักษรตัวเดียวกันตลอดทั้งวรรค ดังนี้
  แลลิงลิงเล่นล้อ ลางลิง
พาเพื่อนเพ่นพ่านพิง พวกพ้อง
ตื่นเต้นไต่ต่อติง เตี้ยต่ำ
ก่นกู่กันกึกก้อง เกาะเกี้ยวกวนกัน

๒) ใช้ตัวอักษรประเภทเดียวกัน คือใช้อักษรที่มีเสียงเหมือนกัน แต่รูปไม่เหมือนกัน เช่น ค ฆ ท ธ ร ล ศ ษ ส เป็นต้น ดังนี้
  ศึกษาสำเร็จรู้ ลีลา  กลอนแฮ
ระลึกพระคุณครูบา บ่มไว้
อุโฆษคุณาภา
เพ็ญพิพัฒน์
นิเทศธรณินให้ หื่นซ้องสาธุการ

๓) ใช้อักษรที่มีเสียงคู่กัน คือใช้อักษรต่ำ ชนิดอักษรคู่ ๑๔ ตัว กับอักษรสูง ๑๑ ตัว ซึ่งมีเสียงผันเข้ากันได้ เป็นคู่ๆ ดังนี้
อักษรต่ำ
๑๔ ตัว
 อักษรสูง
๑๑ ตัว
ค ฆ
ช ฌ
ซ (ทร-ซ)
ฑ ฒ ท ธ
พ ภ

เสียง
คู่
กับ


ศ ษ ส
ฐ ถ


ตัวอย่างดังนี้
  คูนแคขิงข่าขึ้น เคียงคาง
แฟงฟักไฟฝ่อฝาง ฝิ่นฝ้าย
ซางไทรโศกสนสาง ซ่อนซุ่ม
ทิ้งถ่อนทุยท่อมท้าย เถื่อนท้องแถวเถิน

สัมผัสในดังที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นสัมผัสที่ไม่บังคับ จึงมิได้มีแบบกำหนดมาแต่โบราณ แต่ถ้าไม่มี ก็ขาดรสไพเราะ ซึ่งเป็นยอดของรส ในเชิงฉันทลักษณ์ เพราะฉะนั้น คำประพันธ์ที่ดี จะขาดสัมผัสในเสียมิได้ เหมือนเกสร เป็นเครื่องเชิดชู ความสวยงามของบุปผชาติฉะนั้น
คำเป็น คือคำที่ประกอบด้วย สระเสียงยาว (ทีฆสระ) ในแม่ ก กา และคำที่มีตัวสะกด ในแม่กน กง กม เกย (คำที่มีตัว ว สะกด จัดอยู่ในแม่เกย) รวมทั้ง สระสั้นทั้ง ๔ ตัว คือ อำ ใอ ไอ เอาเช่น ตาดำชมเชยคนหุงข้าวเหนียวในครัวไฟ
คำตาย คือคำที่ประกอบด้วย สระเสียงสั้น (รัสสระ) ในแม่ ก กา (ยกเว้น อำใอ ไอเอา) และคำที่มีตัวสะกด ในแม่ กก กด กบ เช่น นกกะหรอด กับนกกะปูด จิกพริก ในการแต่งโคลงทุกชนิด ใช้คำตายแทน เอก ได้
คำนำ คือคำที่ใช้กล่าวขึ้นต้น สำหรับเป็นบทนำ ในคำประพันธ์ เป็นคำเดียวบ้าง เป็นวลีบ้าง เช่น เมื่อนั้น  บัดนั้น โฉมเฉลา น้องเอ๋ย น้องรัก รถเอ๋ย รถทรง ครานั้น สักวา ฯลฯ บางทีก็ใช้คำนามตรงๆ เหมือนอย่าง นามอาลปนะ เช่น สุริยา พระองค์ ภมร ดวงจันทร์ ฯลฯ ดังตัวอย่าง ต่อไปนี้
  ปทุมา โสภาหมดจดสดสี
เกิดในใต้ตมวารี แต่ไร้ราคีเปือกตม
ภมร สุนทรมธุรสถ้อยหรรษา
กลั่นกล่าวเร้าดวงวิญญาณ์ วาจาสิ้นลมคมใน

คำสร้อย คือคำที่ใช้สำหรับลงท้ายบท หรือท้ายบาท ของคำประพันธ์ ซึ่งตามธรรมดา มีคำซึ่งมีความหมายอยู่ข้างหน้าแล้ว แต่ยังไม่ครบจำนวนคำ ตามที่บัญญัติไว้ ในคำประพันธ์ จึงต้องเติมสร้อย เพื่อให้มีคำ ครบตามจำนวน และเป็นการเพิ่มสำเนียงให้ไพเราะ ในการอ่านด้วย คำสร้อยนี้ จะเป็นคำนาม คำวิเศษณ์ คำกริยานุเคราะห์ คำสันธาน หรือคำอุทาน ก็ได้ แต่ถ้าเป็นคำอุทาน ที่มีรูปวรรณยุกต์ ต้องตัดรูปวรรณยุกต์ออก และไม่ต้องมีเครื่องหมายอัศเจรีย์ มิฉะนั้น จะขัดต่อการอ่านทำนองเสนาะ และในการใช้นั้น ควรเลือกคำที่ท่านวาง เป็นแบบฉบับไว้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
คำนาม:
คำกริยานุเคราะห์:
คำสันธาน:
คำอุทาน:
คำวิเศษณ์:
พ่อ แม่ พี่
เทอญ นา
ฤา แล ก็ดี
ฮา แฮ เฮย เอย เวย รา อา นอ
บารนี เลย

คำสร้อยนี้ ต้องเป็นคำเป็น จะใช้คำตายไม่ได้ และใช้เฉพาะบทประพันธ์ ชนิดโคลง และร่าย เท่านั้น

ที่มา  http://www.kroobannok.com/415

การละเล่นเด็กไทย

             การละเล่นเด็กไทย    เป็นการละเล่นของเด็กตั้งแต่สมัยโบราณ อาจมีทั้งบทเพลงและไม่มี  และอาจจะมีทั้งท่าเต้นประกอบหรือไม่มีท่าเต้นประกอบก็ได้  เกิดจากการช่างคิดช่างจินตนาการและความสร้างสรรค์ การสังเกตสิ่งรอบตัว และการใฝ่เรียนรู้ใฝ่เรียน นำมาผสมผสานเข้ากับความสนุกในแบบฉบับของคนสยามได้อย่างลงตัว จนทำให้เกิดเป็นการละเล่นชนิดต่าง ๆ ขึ้นมา
            สมัยนี้มักไม่ค่อยได้พบเห็นการละเล่นประเภทเหล่านี้กันบ่อยนัก เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป ดังนั้น เราจึงควรนำการละเล่นทั้งหมดเท่าที่พอทราบได้ รวบรวมและสรุป นำมาบันทึกเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าอ้างอิง เพื่อให้สิ่งเหล่านี้นั้นไม่ล่วงเลยสูญหายไปตามกาลเวลา

             ความสำคัญของการละเล่น    การละเล่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด การละเล่นทำให้มนุษย์ได้ผ่อนคลายความตึงเครียดจากงานในชีวิตประจำวัน ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างกำลังกายให้แข็งแรง ลับสมองให้มีสติปัญญาแหลมคม มีจิตใจเบิกบานสนุกสนานร่าเริง และยังทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีขึ้นในหมู่มวลมนุษย์ การละเล่นมีมาแต่สมัยใดไม่มีใครกำหนดแน่นอนได้เพียงแต่สันนิษฐานกันตามประวัติศาสตร์เท่านั้น

ตัวอย่างการละเล่นเด็กไทย

ม้าก้านกล้วย    กระโดดเชือก

รีรีข้าวสาร        ขี่ม้าส่งเมือง

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

ความเป็นมนุษย์

           ชีวิตมนุษย์      เป็นชีวิตที่ต้องไขว้คว้าหาทุกสิ่งทุกอย่าง  เพื่อความอยู่รอดของตนเอง

และคนในครอบครัวแต่บ่งครั้งมนุษย์นั้นอาจลืมไปว่าสิ่งที่เราไขว้คว้ามานั้นมีประโยชน์และโทษอย่างไร

ต่อผู้อื่นและผลนั้นมีประโยชน์มากน้อยเพียงไรต่อตนเอง   ดังนั้นการที่เราจะเป็นมนุษย์ที่ดีได้นั้น  ก่อนที่

เราจะทำอะไรลงไปนั้นเราต้องคำนึงถึงผู้อื่นด้วยเสมอ

เคล็ดลับการบำรุงผิวหน้ามัน

          เคล็ดลับ การบำรุงผิวหน้ามัน  เมื่อพูดถึงเรื่องของ สุขภาพหน้า, การบำรุงผิวหน้า, การดูแลผิวหน้า โดยเฉพาะ ผิวหน้ามัน ไม่ว่าผู้หญิง หรือ ผู้ชาย ก็ควรใส่ใจดูแล เพราะหากใบหน้าของคุณมีความมัน  ควรบำรุงด้วยสูตรนี้ทุก ๆ 10 วันต่อ 1 ครั้ง  ด้วย แตงกวา  มะนาว  และไข่  ซึ่งไม่มีสารเคมีใด ๆ ที่จะทำให้คุณแพ้  หรือเกิดอาการระคายเคืองได้อย่างแน่นอน
          เตรียมแตงกวา 2 ผล ปอกเปลือกแล้วล้างให้สะอาด  นำมาปั่นให้ละเอียดผสมกับ  น้ำมะนาว  ครึ่งช้อนโต๊ะ  และไข่ไก่ 2 ฟอง (คัดเอาแต่ไข่ขาว)  เมื่อปั่นจนผสมกันดีแล้วนำมาชโลมให้ทั่วใบหน้า  (ล้างหน้าให้สะอาดก่อนด้วยนะ)  เว้นรอบริมฝีปากและดวงตา  คุณไม่ควรเคลื่อนไหวใบหน้าจนครบกำหนดเวลา  ควรทำหน้านิ่ง ๆ ไว้สักพัก  แล้วจึงล้างหน้าออกให้สะอาดเมื่อครบกำหนดเวลา  นี่เป็นเพียงอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้ สุขภาพใบหน้า ของคุณดีขึ้นซึ่งอาจจะมีอีกหลากหลายวิธีใน การดูแลผิวหน้า ให้ดูดีอยู่เสมอ

         ที่มา:   http://www.siamhealthtoday.com/

หากปวดหัวแก้ได้ง่ายๆ จ้า

อาการปวดหัวนั้น ไม่จำเป็นที่คุณต้องพึ่งยาเสมอไป  ลองมาบำบัดด้วยวิธีธรรมชาติดูก่อนดีไหมค่ะ
  
1. บำบัดด้วยน้ำ
วางถุงน้ำแข็งบนหน้าผาก หรือจะใช้ผ้าเย็น ๆ โพกศีรษะก็ได้ค่ะทำไปพร้อมกับการแช่เท้าในน้ำอุ่น   ค่อย ๆเพิ่มความร้อนของน้ำขึ้น ใช้เวลา 15-20 นาที อาการปวดหัวจะทุเลาลงค่ะ
  
2. งดอาหาร
อาหารแสลงบางชนิด เช่น เนื้อรมควัน ชอคโกแล็ค ผงชูรส ไส้กรอก เบคอน และ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน มักเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดหัวได้
  
3. ใช้วิตามิน
การขาดวิตามิน B- COMPLEX อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ลองมองหาอาหารที่มี วิตามินบีมาก ๆ เช่น ผักโขม กะหล่ำปลีข้าวซ้อมมือ และอาหารธัญพืชต่าง ๆ
  
4. ขิง
มีงานวิจัยพบว่า ขิงมีคุณสมบัติในการแก้ไมเกรน หากมีอาการปวดหัวในช่วงบ่าย ๆ ลองจิบน้ำขิงอุ่น ๆ สักแก้ว ถ้าไม่สะดวกจะต้มเอง ขืงผงบรรจุซอง ก็สะดวกดีค่ะ
  
5. น้ำมันหอม
น้ำมันหอมกลิ่นลาเวนเดอร์ มีคุณสมบัติในการลดความกระวนกระวายใจได้ ลองนำมานวดบริเวณขมับ ไรผม และต้นคอ จะช่วยผ่อนคลายได้
  
6. นวด
การนวดจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้ หาใครสักคนมาคอยนวดที่ต้นคอและช่วงไหล่หรือจะนวดเองก็ได้ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใดค่ะ
  
7. ไปเดินเล่นสักห้านาที
การเดินเล่นจะทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนโดฟินส์   ซึ่งเป็นยาแก้ปวดขนานเอก
  
8. ดนตรีบำบัด
ถ้าคุณปวดหัวจากความเครียด ในทางการแพทย์ค้นพบว่า ดนตรีช่วยบำบัด อาการได้ โดยเฉพาะดนตรีทีมีท่วงทำนองเรียบง่ายฟังสบาย ๆ อาจมีสรรพเสียง ของธรรมชาติ เช่น เสียงนกร้องเกลียวคลื่น เสียงนก หรือลมฝน จะช่วยกล่อมจิตใจให้สงบนิ่งขึ้นช่วยลดความตึงเครียดได้


       วิธีเหล่านี้เป็นวิธีที่ดีมาก  เพราะไม่เสี่ยงต่อการแพ้ยา  และทางที่ดีทุกท่านควรทำจิตใจให้สบายอย่าปล่อยให้ตนเองต้องตกอยู่ในสภาวะความเครียดก็เป็นพอแล้ว