รูปภาพสวยๆ ของคนน่ารัก

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554




มองทีไร  เศร้าทุกที


ตำนานพระแก้วมรกต

ตำนานพระแก้วมรกต


       พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตพระองค์นี้ มีเรื่องในหนังสือตำนานโบราณแต่งเป็นภาษามคธไว้ เรียกชื่อว่า “รัตนพิมพวงศ์” เล่าเรื่องเดิมของพระพุทธรูปแก้วพระองค์นี้สืบมา มีใจความในเบื้องต้นว่า พระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้เทวดาสร้างถวายพระอรหันต์องค์หนึ่ง มีนามว่า พระนาคเสนเถระ ในเมืองปาฏลิบุตร จึงพระนาคเสนเถระเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ อันมีฤทธิ์สำเร็จด้วยอภิญญา ได้อธิฏฐานอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระพุทธเจ้า ให้ประดิษฐานอยู่ในองค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรถึง ๗ พระองค์ คือในพระโมลีพระองค์ ๑ ในพระนลาฏพระองค์ ๑ ในพระอุระพระองค์ ๑ ในพระอังสาทั้ง ๒ ข้าง ๒ พระองค์ ในพระชานุทั้ง ๒ ข้าง ๒ พระองค์ เป็น ๗ พระองค์ เนื้อแก้วก็ปิดสนิทติดเป็นเนื้อเดียวดังเดิมไม่มีแผลมีช่อง แลเห็นตลอดเข้าไปเลย พระมหามณีรัตนปฏิมากรอยู่เมืองปาฏลิบุตร แล้วตกไปเมืองลังกาทวีป แล้วตกมาเมืองกัมโพชา เมืองศรีอยุธยา เมืองละโว้ เมืองกำแพงเพชร แล้วภายหลังตกไปอยู่เมืองเชียงราย เจ้าเมืองเชียงรายหวังจะซ่อนแก่ศัตรู จึงเอาปูนทาลงรักปิดทองบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่เมืองเชียงรายนั้น

     ข้อความตามตำนานในพงศาวดารมีต่อมาว่า เมื่อจุลศักราช ๗๙๖ ปี พระแก้วมรกตพระองค์นี้อยู่ในพระสถูปใหญ่เก่าองค์หนึ่ง ณ เมืองเชียงราย ครั้นพระสถูปเจดีย์นั้นต้องอสนีบาตพังลงแล้ว ชาวเมืองเชียงรายได้เห็นเป็นองค์พระพุทธรูปปิดทองคำทึบทั่วทั้งพระองค์ ก็สำคัญว่าพระพุทธรูปศิลาสามัญ จึงเชิญไปไว้ในวิหารที่ไว้พระพุทธรูปในวัดแห่งหนึ่ง แต่นั้นไป ๒ เดือน ๓ เดือน ปูนที่ลงรักปิดทองหุ้มทั่วพระองค์นี้กะเทาะออกที่ปลายพระนาสิก เจ้าอธิการในอารามนั้นได้เห็นเป็นแก้วสีเขียวงาม จึงแกะต่อออกไปทั้งพระองค์ คนทั้งปวงจึงได้เห็นและทราบความว่าเป็นพระพุทธรูปแก้วทึบทั้งแท่งบริสุทธิ์ดี ไม่บุบสลาย คนชาวเชียงรายและเมืองลาวอื่นๆ ก็ตื่นกันไปบูชานมัสการมากมาย ท้าวเพี้ยผู้รักษาเมืองจึงได้มีใบบอกลงไปถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่

     เจ้าเมืองเชียงใหม่เกณฑ์กระบวนช้างไปแห่รับเสด็จพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมาโดยหลังช้าง ครั้นถึงทางแยกซึ่งจะไปเมืองลำปาง ช้างรับเสด็จพระมหารัตนปฏิมากรแก้วมา ก็วิ่งตื่นไปทางเมืองลำปาง เมื่อหมอควาญเล้าโลมช้างให้สงบแล้วพามาถึงทางที่จะไปเมืองเชียงใหม่ ช้างก็ตื่นไปทางเมืองนครลำปางอีก จนภายหลังเมื่อเอาช้างเชื่อรับเสด็จพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้ว ช้างนั้นเมื่อมาถึงที่นั้นก็ตื่นคืนไปทางเมืองนครลำปางอีก ด้วยเหตุนั้นท้าวพระยาผู้ไปรับก็ได้มีใบบอกไปถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่ ครั้งนั้นเจ้าเมืองเชียงใหม่นับถือผีสางมากนัก จึงวิตกว่าชะรอยผีซึ่งรักษาองค์พระจะไม่ยอมมาเมืองเชียงใหม่ จึงยอมให้เชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วนั้นไปประดิษฐานไว้ในเมืองลำปาง คนทั้งปวงจึงได้เชิญไปไว้ในวัดที่คนเป็นอันมากมีศรัทธาสร้างถวาย ในเมืองนครลำปางนานถึง ๓๒ ปี และวัดนั้นยังเรียกว่าวัดพระแก้วมาจนทุกวันนี้
    ครั้นจุลศักราช ๘๓๐ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์อื่นได้แผ่นดินเชียงใหม่แล้ว ดำริว่าเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ล่วงแล้วยอมให้พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วไปประดิษฐานอยู่เมืองลำปางนั้นไม่ควรเลย ควรจะไปอาราธนามาไว้ในเมืองเชียงใหม่ คิดแล้วจึ่งไปอาราธนาแห่พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมา สร้างพระอารามวิหารถวายแล้วประดิษฐานไว้ในเมืองเชียงใหม่ และเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้พยายามจะทำพระวิหารที่ไว้พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้ว ให้เป็นปราสาทมียอดให้สมควร แต่หาสมประสงค์ไม่ อสนีบาตต้องทำลายยอดที่ตั้งสร้างขึ้นหลายครั้ง จึงได้เชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วไว้ในพระวิหารมีซุ้มจระนำอยู่ในผนังด้านหลังสำหรับเป็นที่ตั้งพระมหารัตนปฏิมากรแก้ว กับทั้งเครื่องประดับอาภรณ์บูชาต่างๆ มีบานปิดดังตู้ เก็บรักษาไว้ เปิดออกให้คนทั้งปวงนมัสการเป็นคราวๆ แต่พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วได้ประดิษฐานอยู่ในเมืองเชียงใหม่นานได้ ๘๔ ปี

     ครั้นลุจุลศักราช ๙๑๓ ปี เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์หนึ่งซึ่งครองเมืองในครั้งนั้น ชื่อเจ้าไชยเสรษฐาธิราช เป็นบุตรพระเจ้าโพธิสารซึ่งเป็นเจ้าเมืองเซ่า (คือเมืองหลวงพระบาง) เพราะเหตุที่แต่ก่อนนั้นไปเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ก่อนได้ยกราชธิดาชื่อ นางยอดคำ ให้ไปเป็นมเหสีพระเจ้าโพธิสาร จึ่งมีราชบุตรคือเจ้าไชยเสรษฐ์องค์นี้ เมื่อเจ้าไชยเสรษฐ์มีอายุได้ ๑๕ ปี เจ้าเมืองเชียงใหม่ผู้เป็นอัยกาธิบดีถึงแก่ชีพิตักษัยไป ไม่มีผู้อื่นจะรับที่เจ้าเมืองเชียงใหม่ ท้าวพระยากับพระสงฆ์ผู้ใหญ่ทั้งปวงจึงพร้อมกันไปขอเจ้าไชยเสรษฐ์ผู้บุตรใหญ่ของพระเจ้าโพธิสาร และเป็นนัดดาของเจ้าเชียงใหม่นั้นมาเป็นเจ้าเชียงใหม่ แถมนามเข้าว่าเจ้าไชยเสรษฐาธิราช

     ครั้นได้เป็นเจ้าเชียงใหม่แล้วไม่นาน ได้ฟังข่าวว่าพระเจ้าโพธิสารผู้บิดาสิ้นชีพวายชนม์แล้ว เจ้าน้องชายต่างมารดาได้เป็นเจ้าในเมืองเซ่า เจ้าเชียงใหม่ไชยเสรษฐาธิราชจะใคร่ไปทำบุญในการศพบิดาและจะใคร่ได้ส่วนมรดกด้วย แต่ยังไม่แน่ใจลงว่าจะต้องเป็นเจ้าเมืองเซ่าเสีย ไม่ได้กลับมาเมืองเชียงใหม่ หรือจะต้องกลับมาเมืองเชียงใหม่เพราะเมืองเซ่ามีเจ้าแล้ว หรือเมื่อไม่อยู่ฝ่ายข้างเมืองเชียงใหม่จะเป็นประการใด ภวังค์หน้าภวังค์หลังอยู่ จึงได้เชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วนั้นไปด้วย อ้างว่าจะรับไปทำบุญและให้เจ้านายญาติวงศ์ในเมืองเซ่าได้บูชาทำบุญด้วยกัน แล้วก็ยกครอบครัวไปหมด เมื่อพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วออกไปจากเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้เป็นปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๙๑๔ ปี

     เจ้าไชยเสรษฐาธิราชไปถึงเมืองเซ่าแล้ว ก็ประนีประนอมพร้อมกับเจ้าน้องและญาติวงศ์ฝ่ายบิดา เชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วขึ้นประดิษฐานไว้ในปราสาท แล้วก็ฉลองพระและทำการกุศลส่งบิดาเป็นอันมาก แล้วก็ปรึกษาหารือกันตามญาติวงศ์พี่น้องด้วยมรดกบิดา แบ่งทรัพย์สิ่งของผู้คนช้างม้าพาหนะช้าอยู่ กาลล่วงไปถึง ๓ ปี

     ฝ่ายพระยาท้าวแสนผู้รักษาเมืองเชียงใหม่เห็นว่า เจ้าไชยเสรษฐาธิราชไปเมืองเซ่าเสียนานแล้วไม่กลับ การงานบ้านเมืองค้างขัดอยู่มาก ถ้ามีข้าศึกศัตรูก็จะไม่มีผู้ชี้การสิทธิ์ขาดได้ จึ่งได้พร้อมกันปรึกษาเลือกหาได้ภิกษุรูปหนึ่งซึ่งชื่อเมกุฏิ เป็นเชื้อวงศ์เจ้าเชียงใหม่ที่ล่วงแล้วมาแต่ก่อนนั้น เวลานั้นมีสติปัญญาสามารถสมควร จึ่งพร้อมกันเชิญเจ้าเมกุฏิให้คืนผนวชออกมา แล้วก็ยอมยกให้เป็นเจ้าเชียงใหม่ พระแก้วมรกตจึ่งค้างอยู่เมืองเซ่า ๑๒ ปี จนเมื่อเจ้าไชยเสรษฐาธิราชลงไปตั้งเมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวง จึงเชิญพระแก้วมรกตลงไปไว้ที่เมืองเวียงจันทน์

      ครั้นเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๐ ปี จึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ยังดำรงพระเกียรติยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นจอมพลเสด็จขึ้นไปหัวเมืองลาวได้ตลอดจนเมืองเวียงจันทน์ จึงเชิญพระแก้วมรกตมากรุงธนบุรี


  ที่มา  http://www.watpom.net/bord/viewthread.php?tid=391

ฝึกทบทวนความรู้

เรื่องย่อวรรณกรรมอีสาน

เรื่องย่อวรรณกรรมอีสาน
นำเสนอโดย ครูวัฒน ศรีสว่าง โรงเรียนสว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี

๑. กาฬเกษ
อักษรธรรม ๑ ผูก วัดแสงเกษม อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

             ณ เมืองพาราณสี มีกษัตริย์นามว่าสุริวงษ์ และมเหสีนามว่า กาฬ และท้าวสุริวงษ์มีม้ามณีกาบ ซึ่งเป็นม้าวิเศษเป็นพาหนะคู่บารมี  ครั้งหนึ่งท้าวสุริวงษ์ได้ลามเหสีและชาวเมืองไปเรียนวิชาอาคม โดยมีม้ามณีกาบเป็นพาหนะไปพบกับพญาครุฑ และยักษ์กุมภัณฑ์   ต่อมาได้เป็นสหายกันและพระองค์ก็เรียนศาสตรศิลป์กับพระฤาษีจนสำเร็จ  แล้วกลับมาปกครองเมืองต่อไป
           เมื่อท้าวสุริวงษ์กลับมาครองเมืองแล้ว ก็ต้องการจะมีบุตรชายเพื่อเอาไว้สืบราชสมบัติแทนพระองค์ ดังนั้นจึงทำพิธีขอลูกกับพระอินทร์ พระอินทร์ได้ส่งเทพบุตรกับเทพธิดาลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ เพื่อให้เป็นคู่สามีภรรยากัน โดยเทพบุตรองค์หนึ่งมาเกิดในท้อง นางกาฬ มเหสีของท้าวสุริวงษ์ เมื่อนางกาฬประสูติออกมาเป็นชาย ชื่อว่ากาฬเกษ กาฬเกษกุมารนี้ได้เจริญเติบโต มาเป็นลำดับ ครั้งหนึ่งเข้าไปเล่นในโรงม้า อันเป็นที่อยู่ของม้ามณีกาบ ได้แอบขึ้นขี่ม้า แล้วม้ามณีกาบก็พากาฬเกษกุมารเหาะไปในอากาศออกจากเมืองมุ่งเข้าป่าหิมพานต์  ขณะที่ท้าวกาฬเกษหนีออกจากเมืองนั้น ได้พบกับนกสาริกาคู่หนึ่ง จึงได้สั่งความให้กลับไปบอกท้าวสุริวงษ์ด้วยว่าจะออกไปเที่ยวในป่าถึง ๓ ปี แล้วจะกลับมา   เมื่อสั่งความแล้วก็เดินทางต่อไปจนเข้าเขตเมืองผีมนต์ของท้าวผีมนต์ และนางมาลีทอง ได้พักอยู่นอกเมือง   พบกับชาวเมืองที่ออกมาหาฟืนแล้วได้ทราบว่าท้าวผีมนต์มีลูกสาวสวยชื่อ มาลีจันทน์ จึงพยายามจะไปพบนางในสวนดอกไม้ เมื่อนางมาลีจันทน์มาชมสวน  ท้าวกาฬเกษจึงเข้าไปหา แล้วชอบพอรักใคร่กัน ดังนั้นเมื่อตอนกลางคืนจึงแอบเข้าไปหานางเป็นเวลานาน ต่อมาท้าวผีมนต์สืบได้จึงทำหอกยนต์ดักยิง ขณะที่ท้าวกาฬเกษแอบเข้าไปนั้น  พระองค์ได้ถูกหอกยนต์ตายลง แต่ก่อนจะตายท้าวเธอได้สั่งว่าอย่าเผาศพ ให้เอาใส่แพลอยน้ำไป นางมาลีจันทน์  ได้ปฏิบัติตามที่ท้าวกาฬเกษสั่งทุกประการ     ศพของท้าวกาฬเกษลอยทวนกระแสน้ำจนไปถึงอาศรมพระฤาษี   แล้วพระฤาษีมาพบเข้าจึงร่ายมนต์ชุบชีวิตให้ฟื้นขึ้นมา ท้าวกาฬเกษคืนมาแล้วจึงเรียนศาสตรศิลป์อยู่กับพระฤาษี   จนสำเร็จแล้วลาพระฤาษีกลับไปหานางมาลีจันทน์ใหม่ ท้าวผีมนต์ทราบข่าวอีกจึงเกิดรบกัน  ในที่สุด ท้าวผีมนต์จึงแพ้  ยกเมืองและลูกสาวคือนางมาลีจันทน์ให้แก่ท้าวกาฬเกษ ๆ อยู่ที่นั่นไม่นานก็พานางมาลีจันทน์เดินทางต่อไปอีก       ในการเดินทางต่อนี้ ยักษ์หลายเมืองเช่น ยักษ์ชื่อสาระกัน ชื่อคันธะยักษ์  และยักษ์ขีนีสาระกาย ต่างต้องการจะให้ท้าวกาฬเกษอยู่ครองเมือง แต่ท้าวกาฬเกษยังต้องการเดินทางต่อไป     หลังจากเดินทางตามที่ต้องการแล้ว ในที่สุดท้าวกาฬเกษก็รับนางมาลีจันทน์ ไปครองเมืองพาราสี สืบต่อไป
      
      
๒. กำพร้าผีน้อย
อักษรธรรม ๑ ผูก วัดโนนกุง ต. นาคำ อ. ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี

            ที่เมืองแห่งหนึ่งมีเด็กน้อยคนหนึ่งกำพร้าพ่อและแม่  ได้เที่ยวขอทานเขากินจนโตเป็นหนุ่มแล้วจึงออกจากเมือง    มาทำนาทำไร่ ณ ที่แห่งหนึ่ง เมื่อข้าวพืชงอกงามขึ้น ได้มีสัตว์ต่างๆ มากิน  แม้จะไล่อย่างไรก็ไม่ไหว เอาอะไรมาทำเครื่องดักก็ยังขาดหมด จึงไปขอเอาสายไหม จากย่าจำสวน (คนสวนของพระราชา) มาทำจึงจับได้ช้าง ช้างเมื่อถูกจับได้กลัวตายจึงร้องขอชีวิตและบอกว่าจะให้ของวิเศษถอดงาข้างหนึ่งให้ ท้าวกำพร้าผีน้อยจึงปล่อยไปแล้วเอางาช้างมาไว้ที่บ้าน  ต่อมาท้าวกำพร้าดักได้เสือ เสือก็ยอมเป็นลูกน้อง  โดยบอกว่าถ้ามีเรื่องเดือดร้อนจะมาช่วย ต่อมาจับได้อีเห็น อีเห็นก็ยอมเป็นลูกน้อง เช่นเดียวกันกับเสือ ต่อมาจับพญาฮุ้ง (นกอินทรีย์) พญาฮุ้งก็ยอมเป็นลูกน้องอีก และตัวสุดท้ายจับได้คือผีน้อยที่มาขโมยกินปลาที่ไซ ผีน้อยก็ยอมเป็นลูกน้อง เมื่อท้าวกำพร้าได้งาช้างมาแล้วก็เอามาไว้ที่บ้าน ในงาช้างนั้นได้มีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อสีดา อาศัยอยู่ นางได้ออกมาทำอาหารไว้รอท้าวกำพร้า ต่อมาท้าวกำพร้าจับนางได้จึงทุบงาช้างนั้น เพื่อจะไม่ให้นางหลบเข้าไปอยู่อีก นางจึงอยู่กินเป็นสามีภรรยากันตั้งแต่นั้นมา   ความสวยงามของสีดา ได้ยินไปถึงพระราชา เมื่อพระราชาเห็นแล้วก็รักใคร่จึงจะยึดเอาแต่ก็กลัวคนจะติเตียน จึงท้าท้าวกำพร้าทำการแข่งขันต่างๆ โดยถ้าท้าวกำพร้าแพ้จะยึดนางสีดามา    แต่ถ้าพระองค์แพ้จะยอมยกเมืองให้ครึ่งหนึ่ง การแข่งขันนั้นคือ ชนวัว  ชนไก่  แข่งเรือ แต่ปรากฏว่าท้าวกำพร้าชนะทุกครั้ง เพราะในการชนวัวนั้น เสือแปลงเป็นวัวมาช่วยท้าวกำพร้า   ชนไก่นั้นอีเห็นแปลงเป็นไก่มาช่วย กัดไก่ของพระราชาตาย ในการแข่งขันเรือนั้นพญาฮุ้งมาเป็นเรือและได้ทำให้เรือพระราชาล่มแล้วกินคนทั้งหมด   เมื่อพระราชาตายแล้วได้รวมหัวกับบ่างลั่วตัวหนึ่ง โดยให้บ่างลั่วร้องเรียกวิญญาณของนางสีดามา โดยร้องครั้งแรกนางก็ไม่สบาย ครั้งที่สองสลบไป ครั้งที่สามจึงตายวิญญาณของนางจึงมาอยู่กับพวกผีพระราชา  ส่วนท้าวกำพร้าปรึกษากับผีน้อย ผีน้อยบอกว่าอย่าเพิ่งเผา  จะตามไปดูวิญญาณของนางอยู่ที่ใด   เมื่อผีน้อยตามไปทราบเรื่องทั้งหมดแล้วจึงวางแผนจะจับบ่างลั่วตัวนั้น  จึงเข้าไปตีสนิทกับบ่างลั่วแล้วสานข้อง (ที่ใส่ปลา)   ครั้งแรกสานด้วยไม้ใผ่แล้วให้บ่างลั่วเข้าไปข้างใน   แล้วให้ยันดูปรากฏว่าข้องแตก   จึงสานด้วยลวด แล้วบอกให้บ่างลั่วเข้าไปดูแล้วบอกให้ยันดู  ปรากฏว่าข้องไม่แตกจึงรีบหาฝามาปิดแล้วรีบเอามาให้ท้าวกำพร้าบังคับให้บ่างลั่วร้องเรียกเอาวิญญาณนางสีดากลับคืนมาไม่เช่นนั้นจะฆ่าเสีย  บ่างลั่วจึงร้องเรียกเอาวิญญาณนางกลับมา โดยร้องครั้งแรกก็เคลื่อนไหว      ครั้งที่สองฟื้นขึ้น ครั้งที่สามหายเป็นปกติทุกอย่าง พอทุกอย่างปกติแล้วท้าวกำพร้าจึงหลอกว่าขอดูไอ้ที่ร้องเอาวิญญาณคนได้ไหม บ่างลั่วจึงแลบลิ้นออกมาให้ดู ท้าวกำพร้าจึงตัดลิ้นบ่างลั่วนั้นเสีย เพราะกลัวมันจะร้องเอาวิญญาณไปอีก บ่างลั่วจึงร้องไม่ชัดตั้งแต่นั้นมา ส่วนท้าวกำพร้ากับนางสีดา ได้ปกครองเมืองแทนพระราชาที่ตายนั้น


วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน

กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน
ประเด็นปัญหา
                เนื่องจากผลการประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) พบว่าความสามารถของผู้เรียนในด้านการแสวงหาความรู้ อยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง
แนวคิด / หลักการ
                ความสำคัญของการอ่าน การอ่านเป็นสื่อกลางของการเรียนรู้ ผู้ที่อ่านมากย่อมมีความรู้มาก เราสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยการอ่าน
                องค์ประกอบในการอ่าน ในการสอนหรือฝึกให้เด็กอ่านคล่อง อ่านเก่งและอ่านเป็นนั้น ครูผู้สอนควรพิจารณาถึงองค์ประกอบต่อไปนี้ เช่น
                                - ระดับสติปัญญา เด็กบางคนมีสติปัญญาไม่เท่ากัน มีผลต่อการอ่าน จึงไม่ควรเน้นให้เด็กอ่านได้เท่ากันในเวลาเดียวกัน
                                - วุฒิภาวะและความพร้อม  การอ่านต้องอาศัยทักษะต่างๆ เช่น ทักษะการใช้สายตา กาใช้อวัยวะเกี่ยวกับการออกเสียง ดังนั้น การเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเริ่มการสอนอ่าน
                การเลือกวิธีอ่านอย่างเหมาะสม
                                การอ่านมีหลายวิธี เช่น อ่านคร่าวๆ อ่านเก็บแนวคิด อ่านแบบตรวจตรา อ่านแบบศึกษาค้นคว้า อ่านเชิงวิเคราะห์ อ่านเก็บข้อมูล อ่านโดยใช้วิจารณญาณ
                                ดังนั้น การเลือกวิธีการอ่านอย่างเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ จะช่วยให้การอ่านมีความหมายและเป็นประโยชน์มากขึ้น
                การส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน
                                ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีการอ่านหนังสือจนเกิดเป็นนิสัย จำเป็นต้องมีการปลูกฝังและชักชวนให้เกิดความสนใจการอ่านอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยมีมาตรการเพื่อส่งเสริมการอ่าน โดยนำไปบูรณาการการอ่านกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ดังนี้
                - จัดกิจกรรม วางทุกงาน อ่านทุกคน
                - จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านทั้งในและนอกห้องเรียนอย่างหลากหลายและสม่ำเสมอ
                - จัดกิจกรรมให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการอ่าน
                - สร้างแรงจูงใจและชี้แจงให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน
                - พัฒนาการอ่านของนักเรียนตามลำดับตั้งแต่ระดับอ่านออก อ่านเป็น อ่านสม่ำเสมอและอ่านเป็นนิสัย รวมทั้งติดตามประเมินผลพัฒนาการอ่านของเด็กอย่างต่อเนื่อง
-   จัดสื่อ หรือแหล่งการเรียนรู้เพื่อสนองความต้องการในการอ่าน
จากผลการสำรวจข้อมูลในด้านการอ่านของคนไทยโดยภาพรวมจำนวนหนังสือและชั่วโมงในการอ่านน้อยอย่างน่าตกใจ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลการศึกษาของนักเรียนไทยตกต่ำลงทุกปี ซึ่งในปัจจุบันสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวมีสิ่งเร้า สิ่งยั่วยุมากมาย โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี เด็กมักเอาเวลาส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์เล่นเกมส์กันมากกว่าใช้ค้นหาความรู้ ค้นหาข้อมูลในด้านการเรียนของตัวเอง จึงเป็นประเด็นปัญหาที่น่าสนใจในการช่วยกันส่งเสริมทักษะในด้านการอ่านให้กับเด็กไทยอย่างไรให้เด็กมีความรู้สึกอยากอ่าน มากกว่าการอ่านเพื่อสอบเก็บคะแนน หรือการสอบเข้าเรียนต่อในสถาบันที่ผู้ปกครองต้องการ